มาตรฐาน

มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA)

หน้าหลัก / มาตรฐาน / มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA)

   การพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) 

        สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ สรพ. ได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน ในปี พ.ศ. 2552 โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กร ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินระบบงานและการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล รวมทั้งกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล

       สถาบันได้มีการพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล มาเป็นลำดับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2539, ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2543, ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2549, ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560 และฉบับที่ 5 เมื่อตุลาคม 2564 ที่มีผลบังคับใช้เพื่อการประเมินรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565


มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) กับการยอมรับในระดับสากล

       สถาบันได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรสากล คือ The International Society for Quality in Health Care External Evaluation Association (ISQua EEA) ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพของประเทศไทย โดยครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และได้รับการรับรองต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 สำหรับมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 – กุมภาพันธ์ 2569 

                    


หลักการพัฒนามาตรฐาน

คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลได้กำหนดหลักการพัฒนามาตรฐาน โดยแบ่งหลักการเป็น 2 ประเด็นหลัก

1) หลักการในการพัฒนามาตรฐาน (Principle of Standards Development)

2) หลักการในการนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติและการประเมินผล (Principle of Standard Implementation and Evaluation)

         

1หลักการในการพัฒนามาตรฐาน (Principle of Standards Development)

1.1 พัฒนาให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด

1.2 พัฒนาตามหลักการและแนวคิดสำคัญของ HA ได้แก่ 

     1.2.1 มาตรฐานควรเป็นการมองภาพรวมอย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกองค์ประกอบเห็นการเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ (System perspective)

     1.2.2 การพัฒนามาตรฐานควรมีความยืดหยุ่น ทันต่อสถานการณ์ และมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว (Agility)

     1.2.3 การพัฒนามาตรฐานควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (Evidence based)

     1.2.4 มาตรฐานต้องทำให้เกิดคุณภาพการดูแลและความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient safety & quality of care) 

     1.2.5 ต้องมีการรับฟัง ร่วมคิด ร่วมทำ ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนามาตรฐาน (Teamwork)

     1.2.6 มาตรฐานนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  (Continuous quality improvement)

     1.2.7 การพัฒนามาตรฐานควรเน้นการใช้เพื่อการเรียนรู้ (learning)

1.3 พัฒนาตามหลักการของ International Society for Quality in Healthcare External Evaluation Association: IEEA ซึ่งประกอบด้วย

     1.3.1 การพัฒนามาตรฐานต้องประกอบด้วยกระบวนการวางแผน พัฒนาและประเมินผล (Standards Development) 

     1.3.2 ต้องมีการพัฒนากระบวนการวัดประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับสถานพยาบาลและผู้เยี่ยมสำรวจ (Standards Measurements) 

     1.3.3 มาตรฐานต้องมีการประเมินครอบคลุมเรื่องบทบาทหน้าที่ ทิศทาง แผนและผลการดำเนินงานขององค์กร (Organization Roles, Planning and Performance) 

     1.3.4 มาตรฐานต้องครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงสำหรับผู้ป่วย/ญาติ บุคลากร ผู้มาเยือนและผู้เกี่ยวข้อง (Safety and Risk)

     1.3.5 มาตรฐานควรสะท้อนให้เห็นการดูแลที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง (Person-centered Care)

     1.3.6 มาตรฐานควรให้องค์กรสามารถประเมินและวัดผลคุณภาพของบริการ (Quality Performance) ได้ และมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Continuous quality improvement)

     1.3.7 พัฒนาให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ของการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งมี 3 ประเด็น (3P) คือ ปัญหาสุขภาพของคนไทย (People), บุคลากรสาธารณสุข (Professional), ยุทธศาสตร์ชาติ (Policy) 

2. หลักการในการนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติและการประเมินผล (Principle of Standard Implementation and Evaluation) 

     2.1. นำมาตรฐานไปใช้ในกระบวนการเยี่ยมสำรวจให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ (Learning Mode) โดยการทบทวนแบบ กัลยาณมิตร 

 2.2. กระบวนการประเมินที่มีระบบการวัด (System of Measurement) ที่ชัดเจนตามแต่ละบริบท

     2.3. มีทีมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วย และประชาชน (Experts & Patients Engagement) มาร่วมกันกำหนดบางประเด็นที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาที่มากขึ้น

     2.4. การนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติและการประเมินผลเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้สถานพยาบาลพัฒนาได้ด้วยตนเอง (Empowerment evaluation)

แผนการดำเนินงานพัฒนามาตรฐาน

       เพื่อให้กระบวนการพัฒนามาตรฐานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นระบบ และได้รับการยอมรับในระดับสากล คณะกรรมการสถาบันจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เพื่อกำหนดหลักการพัฒนามาตรฐาน ทบทวน กำกับ ติดตามแผนดำเนินการพัฒนามาตรฐานร่วมกับสถาบัน และกลั่นกรอง (ร่าง) มาตรฐานสำหรับการประเมินการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาลก่อนเสนอคณะกรรมการพิจารณา

       สถาบันได้จัดทำแผนการพัฒนามาตรฐานและดำเนินการตามแผนการพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยการการทบทวนแนวทางการพัฒนามาตรฐานจากองค์กรสากล IEEA มาตรฐานต่างประเทศ งานวิชาการ งานวิจัย และการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมของสถานพยาบาล ผู้เยี่ยมสำรวจ ที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรวิชาชีพ ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุม การรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การตอบแบบสอบถาม และการรับฟังความคิดเห็นที่เปิดกว้างจากช่องทาง  website และการทดลองใช้มาตรฐาน 



มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5

    เพื่อให้สอดคล้องกับสถานกาณ์ต่างๆ ของโลกและประเทศ ความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งแนวคิดในการบริหารองค์กร การบริหารคุณภาพและความปลอดภัย และเป็นไปเพื่อการต่ออายุกระบวนการรับรองมาตรฐานในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง สถาบันจึงมีการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพขึ้นเป็นมาตรฐานฉบับที่ 5 โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาให้มีความกระชับและยังคงสาระหลักเดิมไว้ ขณะเดียวกันก็ได้มีการยกร่างเนื้อหาใหม่ขึ้นอีกจำนวนหนึ่งเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

จุดเด่นของมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5

     คณะกรรมการสถาบันได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ในด้านระบบบริการสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพ ร่วมดำเนินการกำหนดหลักการ ทิศทางและพัฒนามาตรฐานของสถาบัน ส่งผลให้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5 มีจุดเด่นดังนี้

  1. มีการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่กว้างขวางและครอบคลุมทั้งภาควิชาการและผู้ใช้มาตรฐาน ประกอบด้วย องค์กรด้านสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เยี่ยมสำรวจ โรงพยาบาล ประชาชน มีการทดลองใช้มาตรฐานในสถานพยาบาลและนำผลการทดลองใช้มาปรับให้เหมาะสม
  2. การนำมาตรฐานต่างประเทศ และหลักการพัฒนามาตรฐานขององค์กรในระดับสากล The International Society for Quality in Health Care External Evaluation Association (ISQua EEA)  มาเป็นแนวทางการพัฒนามาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรม
  3. การบูรณาการบทเรียนและประสบการณ์ของโรงพยาบาลในการตอบสนองในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และวิถีหรือแนวปฏิบัติใหม่ๆ (new normal) ที่โรงพยาบาลมีการปรับเปลี่ยน
  4. การคาดการณ์แนวโน้มการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อชี้นำและส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล
  5. การบูรณการเอกลักษณ์ของไทย เช่น มิติจิติวิญญาณ (Spiritual Healthcare Appreciation: SHA) การแพทย์แผนไทย การสร้างเสริมสุขภาพ การรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ 
  6. การเรียบเรียงเกณฑ์มาตรฐานให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพเป็นหลัก ไม่ใช่เพียงเพื่อการประเมินรับรอง

ประเด็นสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5

  1. การปรับมาตรฐานตาม Recommendation ของ ISQua EEA ที่เสนอไว้ในการรับรองครั้งที่ 3
  2. การปรับมาตรฐานตามเกณฑ์ Guideline and Principle for the Development of Health and Social Care Standards ปี 2018 ของ ISQua EEA
  3. การนำประเด็นทางมิติจิตวิญญาณ มาบูรณการในมาตรฐาน โดยพิจารณาเพิ่ม SHA supplement 
  4. การปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID 19
  5. การปรับเพิ่ม/ลด เนื้อหาของมาตรฐานตามข้อเสนอของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญ สภา/องค์กรวิชาชีพ และผู้กำหนดนโยบาย
  6. การปรับมาตรฐานตามงานวิชาการ มาตฐานต่างประแทศและมาตรฐานอื่นๆที่เป็นสากล 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5

        มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5 ได้มีการปรับเปลี่ยนจากฉบับที่ 4 ในหลายประเด็น โดยเนื้อหาที่ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมจะแสดงด้วยตัวอักษรสีม่วง ผู้ใช้มาตรฐานสามารถดูหัวข้อหลักของเกณฑ์ในมาตรฐานฉบับที่ 5 เทียบกับฉบับที่ 4 ได้จากตารางเปรียบเทียบในภาคผนวกของเล่มหนังสือมาตรฐาน ทั้งนี้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 มีประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียนมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5

2. การปรับ/เปลี่ยนแปลงชื่อบทมาตรฐาน

3. การเปลี่ยนแปลง/เพิ่มเติม/ปรับข้อความในข้อกำหนดในภาพรวมของแต่ละบท

4. การเพิ่มหมวดหมู่ในมาตรฐาน

5. การเปลี่ยนแปลงชื่อหมวดมาตรฐาน

6. การเพิ่มข้อย่อยหรือปรับการเขียนข้อย่อยให้มีอนุข้อย่อยในการอธิบาย

7. การทบทวนการเขียนเนื้อหาให้กระชับและครอบคลุม

8. การใช้คำที่มีความหมายกว้างขึ้นในมาตรฐาน

9. การสลับที่/ควบรวมมาตรฐาน

ขอบเขตและเนื้อหาของมาตรฐาน

         มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5 ใช้สำหรับการพัฒนาและการประเมินโรงพยาบาลทั้งองค์กร ซึ่งสามารถใช้ได้กับโรงพยาบาลทุกระดับ โดยเนื้อหาในมาตรฐานแบ่งเป็น 4 ตอน (part) ประกอบด้วย ตอนที่ I ภาพรวมการบริหารองค์กร ตอนที่ II ระบบงานที่สำคัญของโรงพยาบาล ตอนที่ III กระบวนการดูแลผู้ป่วย ตอนที่ IV ผลลัพธ์ โดยโครงร่างของมาตรฐานยังคงไว้ซึ่งหลักคิดที่สอดคล้องกัยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ 


          เนื้อหาในมาตรฐานทั้ง 4 ตอนได้มีการแบ่งเป็นบท (chapter) โดยเรียงลำดับแต่ละบทตามตัวเลขอารบิคตามหลังด้วยเลขโรมัน เช่น มาตรฐานตอนที่ I ประกอบด้วยมาตรฐานบทที่ I-1 ถึง I-6 โดยบางบทจะมีการจัดหมวดหมู่ (section) เป็น ตัวตัวอักษร เช่น ก. ข. และค. และแต่ละบทของมาตรฐานจะมีข้อกำหนด (requirement) 3 ระดับ คือ ข้อกำหนดพื้นฐาน (basic requirements)ข้อกำหนดในภาพรวม (overall requirements) และข้อกำหนดย่อย (multiple requirements)



เป้าหมายของการใช้มาตรฐาน

       เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบระบบงานที่เหมาะสม และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จนองค์กรสามารถแสดงผลการดำเนินงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับ มีระบบจัดการความเสี่ยงที่ดี และเห็นโอกาสพัฒนาไปสู่ระดับที่เป็นเลิศ

สิ่งที่ต้องใช้ควบคู่กับมาตรฐาน

1. การพิจารณาบริบทขององค์กรและหน่วยงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหา ความท้าทาย และความเสี่ยง ที่สำคัญ

2. การใช้ค่านิยมและแนวคิดหลัก (core values & concepts) ของการพัฒนาคุณภาพและการสร้างเสริมสุขภาพ

    - ทิศทางนำ: visionary leadership, system perspective, agility

    - ผู้รับผล: patient & customer focus, focus on health, community responsibility

    - คนทำงาน: value on staff, individual commitment, teamwork, ethic & professional standard

    - การพัฒนา: creativity & innovation, management by fact, continuous process improvement, focus on results, evidence-based approach

    - พาเรียนรู้: learning, empowerment

3. วงล้อการพัฒนาคุณภาพและการเรียนรู้ (Plan-Do-Study-Act หรือ Purpose-Process-Performance)

4. แนวทางการประเมินระดับการปฏิบัติตามมาตรฐาน (Scoring Guideline)

การใช้มาตรฐานที่ก่อให้เกิดคุณค่า

1. ทำความเข้าใจเป้าหมายและคำสำคัญ (key words) ของมาตรฐานให้กระจ่างชัด สำหรับข้อความหรือศัพท์ที่เข้าใจได้ยากหรือนึกถึงวิธีนำไปปฏิบัติไม่ออก จะมีคำอธิบายหรือตัวอย่างการปฏิบัติเขียนไว้ที่เชิงอรรถ (footnote)

2. เน้นการใช้เพื่อการเรียนรู้และยกระดับผลการดำเนินงาน

3. เน้นความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ในแต่ละระบบ (ศึกษาและทำความเข้าใจเส้นที่เชื่อมต่อองค์ประกอบต่างๆ ในแผนภูมิ) และการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานต่างๆ

4. เน้นการนำมาตรฐานไปเรียนรู้และทบทวนการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ในที่ทำงาน หรือที่ข้างเตียงผู้ป่วย

5. เน้นการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ (ระบบงาน กลุ่มผู้ป่วย หน่วยงาน) อย่างเชื่อมโยง

6. ประยุกต์ใช้มาตรฐานอย่างเหมาะสม เช่น ประยุกต์ใช้มาตรฐานตอนที่ 1 กับระดับหน่วยงานด้วย ประยุกต์มาตรฐานว่าด้วยการจัดการกระบวนการในทุกเรื่อง

7. เน้นการทบทวนประเมินผลในระดับภาพรวม และการบรรลุเป้าหมายของแต่ละระบบ



เอกสารแนบ
  1. HA Standards 5th edition_ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2.pdf
    View
  1. เอกสารแสดงเนื้อหาแก้ไขมาตรฐาน HA ฉบับที่ 5 _ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2565.pdf
    View