มาตรฐาน

มาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิ

หน้าหลัก / มาตรฐาน / มาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิ

มาตรฐานสำหรับการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล

ทั้งองค์กรที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

            สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มีบทบาทหน้าที่สำคัญตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กร ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินระบบงานและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล

            ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีกลไกการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการในระบบบริการปฐมภูมิและให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านสาธารณสุขรวมทั้งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดจุดมุ่งเน้นในการสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง สถาบันจึงได้มีการพัฒนามาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิโดยเป็นไปตามแนวทางการพัฒนามาตรฐานสากล The International Society for Quality in Health Care External Evaluation Association (ISQua IEEA) และตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด

 

มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (Public Health Center Standards, 2nd Edition)

            สถาบันได้ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการพัฒนามาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมการพัฒนาและประเมินรับรองหน่วยบริการสุขภาพประเภทที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิในเขตเมืองของศูนย์บริการสาธารณสุข และการพัฒนาให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชากรและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาคุณภาพ นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ สถาบันได้มีการพัฒนามาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 ตามแนวทางการพัฒนามาตรฐานสากล ISQua IEEA โดยมุ่งเน้นให้เกิดการบริหารจัดการสถานพยาบาลที่ส่งมอบคุณค่าแก่ผู้รับผลงาน ความปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง และระบบบริการที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นองค์รวม


กรอบแนวคิดมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข

      มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข มีทั้งหมด 7 หมวด โดยใช้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างของมาตรฐานในบทที่ I-6 การปฏิบัติการ แบ่งเป็นกระบวนการหลักและกระบวนการสนับสนุน ซึ่งกระบวนการหลักมาตรฐานจะครอบคลุม บทที่ II-8 การเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ บทที่ II-9 การทำงานกับชุมชน ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญในสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ และตอนที่ III กระบวนการดูแลผู้ป่วย ส่วนกระบวนการสนับสนุน ครอบคลุมมาตรฐานตอนที่ II ในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสาธารณสุข ฉบับที่ 4 ที่สำคัญจำเป็นสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีการปรับรายละเอียดของมาตรฐานให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตเมือง ซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และมีการดำเนินงานในชุมชนที่หลากหลาย รวมทั้งการดูแลประชาชนผู้รับบริการในหน่วยบริการและในชุมชนที่เชื่อมโยงกันจนถึงระดับโรงพยาบาล



                                                   

มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ฉบับที่ 1 (Primary Care Standards, 1st Edition)

       สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) พัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิฉบับนี้ขึ้นมา ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ชัดเจน และใช้ประเมินการพัฒนาและรับรองคุณภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ได้มาตรฐานและการพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและปลอดภัย

แนวคิดในการสร้างมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ

         จากลักษณะงานที่สำคัญของสถานพยาบาลที่ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิซึ่งมีหลากหลาย ตั้งแต่การดูแลตั้งแต่ เริ่มแรก รอบด้านและครบถ้วน ผสมผสานครอบคลุมกับทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ ดูแลใส่ใจ ต่อเนื่อง ประสานเชื่อมโยงกับสถานพยาบาล และเครือข่ายทุกระดับ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ

            ดังนั้นมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิจึงถูกสร้างขึ้นด้วยอาศัยมาตรฐานของ ISQua EEA (The International Society for Quality in Health Care External Evaluation Association) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ที่มุ่งเน้นประเด็นความปลอดภัยของผู้ป่วย การพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง และยึดคนเป็นศูนย์กลางของการดูแล รวมทั้งประเด็นคุณภาพสำคัญสอดคล้องตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เป็นต้นแบบ โดยมีคุณลักษณะเฉพาะดังนี้

    1. ส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ ทำให้มีการพัฒนาร่วมกันได้
    2. กำหนดมาตรฐานบริการสุขภาพปฐมภูมิในลักษณะองค์รวมเป็นหลัก ให้รอบด้านและครบถ้วน
    3. มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้นของปัญหา โดยยึดหลักการ “สร้างนำซ่อม” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
    4. ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาการบริการให้ได้มาตรฐานตามบริบทของประเทศ
    5. สร้างอัตลักษณ์การให้บริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทย

กรอบแนวคิดมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ

            มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ จะจัดเป็นหมวดหมู่และขั้นตอน โดยแบ่งออกเป็น 5 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ภาพรวมของการบริหารสถานพยาบาลปฐมภูมิ ตอนที่ 2 การบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตอนที่ 3 การบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ตอนที่ 4 การสนับสนุนบริการ ตอนที่ 5 ผลการดำเนินการ




เอกสารแนบ
  1. มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ฉบับที่ 2 _Public Health Center Standards, 2nd Edition_.pdf
    View
  1. มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ฉบับที่ 1_Primary Care Standard,1st Edition.pdf
    View