การรับรอง

คุณค่าการรับรอง

หน้าหลัก / การรับรอง / คุณค่าการรับรอง

โรงพยาบาล HA โรงพยาบาลคุณภาพ ในสถานการณ์ COVID-19

Author : admin Date : 04 ม.ค. 2565
View : 3,912 Tags :

 

Graphical user interface, website

Description automatically generated with medium confidenceพญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยว่าเป็นความเชื่อมโยงที่ดีระหว่างโรงพยาบาล บ้าน และชุมชน ที่สำคัญมีการปรับตัวตามสถานการณ์ตลอดเวลา สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าทุกระบบมีความสำคัญ และระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทย มีการพัฒนาระบบการบริการมาอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนากลไกที่หลากหลาย หนึ่งในกลไกที่ สรพ. ได้เกี่ยวข้องก็คือ กลไกการรับรองคุณภาพในสถานพยาบา ระหว่างที่สถานการณ์ปกติเราให้โรงพยาบาลสร้างคุณภาพในการทำงานตามมาตรฐานระบบบริการว่าควรจะเป็นอย่างไร พอมีสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น รงพยาบาลก็ไม่ได้เปิดมาตรฐาน HA แต่ทุกอย่างอยู่ในจิตวิญญาณของการทำงาน มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง สามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นว่าในสถานการณ์โควิดหลายๆ ที่ อุปกรณ์บางอย่างไม่เคยมี แต่โรงพยาบาลก็สามารถบริการจัดการจนนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ปัจจุบันโรงพยาบาลคุณภาพ HA มีการขยายคุณภาพออกไปนอกโรงพยาบาล สร้างเครือข่ายและพร้อมที่จะสร้างคุณภาพตามพื้นที่ด้วย กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าเอาไว้ว่าอยากจะให้ผู้ป่วยปลอดภัยในการดูแลรักษา     แต่ผู้ป่วยจะปลอดภัย บุคลากรต้องปลอดภัยด้วยเช่นกัน ดังนั้นในสถานการณ์โควิด จะเป็นตัวทดสอบระบบ และเป็นตัวที่ทำให้ระบบของเราเข้มแข็งและแข็งแรงขึ้น และเราก็อยากให้ความสำคัญกับปัจจัย 3P Safety นั่นก็คือ Patient Personnel และ People  

ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ มีวิธีการดูแลคนที่อาจจะแตกต่างกัน แต่ใช้หลักการที่เหมือนกันโดยเฉพาะในโรงพยาบาลคุณภาพ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 จะทำทุกวิถีทางให้ลดการแพร่กระจายเชื้อ ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงและค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าวัคซีนที่สำคัญที่สุด คือ วัคซีนที่สร้าง mindset เพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยธรรมชาติ เราจะได้ล้างมือ สวมแมส เว้นระยะห่าง เป็นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างมีคุณภาพ 

Graphical user interface, website

Description automatically generatedนพ.สมบูรณ์ มะลิขาว โรงพยาบาลระยอง เล่าถึงการดูแลและรับมือกับคนไข้ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลมาตรฐานคุณภาพ มีทักษะในการจัดการในเรื่องต่างๆ แต่โควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ ที่ทำให้เราตั้งตัวแทบไม่ทัน เราขาดแคลนความสะดวกมากมายในการรับมือกับสถานการณ์ ต้องดัดแปลงหอผู้ป่วยหนักเป็น     หอผู้ป่วยโควิด และคาดไม่ถึงว่าจะหนักขนาดนี้ โชคดีที่เราไม่เคยหยุดนิ่ง เราก็พยายามสร้างหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วย  โควิด หอผู้ป่วยสามัญแรงดันลบ เพื่อดึงเอาอากาศที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ระบบการกรอง เพื่อให้ปลอดภัยกันทั้งหมด แล้วก็มีแล็บพัฒนาเรื่องการตรวจเชื้อโควิด-19 เดิมเรามี 604 เตียง บุคลากร 1,800 คน พอสถานการณ์โควิดเข้ามา ปรากฏว่ามีผู้ป่วยโควิดต้องใช้เตียงถึง 1,084 เตียง ในระบบของการดูแลทั้งหมด และเราก็ยังต้องรับผู้ป่วยปกติอีก 300-400 คนหมายความว่าปริมาณงานเราเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เราก็เพิ่มความเข้มแข็งขึ้น โดยทบทวนจากการที่มีโควิดติดเชื้อ ดังนั้นบริหารข้อมูลรวมจึงมีความจำเป็น จากตอนแรกที่เราไปไม่เป็นจนเรามีการปรับจากกระบวนการความคิดของการทำงานคุณภาพมาสร้างมาตรฐาน เน้นการสื่อสารที่ไม่ให้เกิดการผิดพลาด มีการปรับพื้นที่และปรับระบบการทำงานโดยรวม เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยกับคนไข้ มีกระบวนการพัฒนาคุณภาพที่สอดคล้องกับคนไข้ที่เข้ามาในทุกๆ วัน 

นพ.มานพ ฉลาดธัญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เล่าว่าสำหรับจังหวัดนครพนมจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ยืนยันการติดเชื้อหลังล็อกดาวน์ ช่วงพีคที่สุดต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ตัวเลขก็ลดลงและดีขึ้นเรื่อยๆ คอนเซ็ปต์ของนครพนมสำหรับการบริหารจัดการโควิด-19 ว่าด้วย 3T คือ TEST, TRACING และ TAKE VACCINE ตามหลักการ 3 ข้อ คือ ป่วยกลับมาพร้อมดูแล ป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน และทุกคนมีภูมิคุ้มกันโควิดเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ไม่มีมาตรฐานไม่มีแบบแผนในการจัดการ ซึ่งเราจะเรียนรู้กับมัน แต่จะใช้เวลานานในการเรียนรู้ไม่ได้ อย่างการคัดกรองก็ต้องให้เร็วที่สุด ใครกลับมาหรือเข้ามาที่นครพนมต้องตรวจให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ไปถึงบ้าน ถ้าเข้าบ้านจะมีการแพร่ระบาดแน่ๆ ทุกคนที่มาจะต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลชุมชน จะมาถึงนครพนมเวลาไหน ก็ยังเข้าบ้านไม่ได้ แต่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็เข้าบ้านด้วยความสบายใจ 

ส่วนการเฝ้าระวังเราใช้กลไกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้นำชุมชนก็ช่วยกันสแกน ตรวจตราตามบ้าน เรื่องการรักษา การที่ป่วยแล้วกว่าจะเข้ามารักษา ทันทีที่มาถึงนครพนมก็จะให้ยา ให้ยาให้เร็ว เอกซเรย์ปอดให้ไว มีการแยกผู้ป่วยที่สงสัยเพื่อแยกออกมา บุคลากรที่ช่วยกันทำงานก็จะมีการเชื่อมโยงและสื่อสารกันตลอดเวลา มีระบบเครือข่ายที่ดีในการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร โดยการร่วมมือจากทุกเครือข่ายด้วยแนวคิดแนวปฏิบัติ นครพนมจะปลอดภัยทุกคนต้องอยู่ในกฎ 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทที่ได้รวบรวมทีมแพทย์ชนบทจากหลายจังหวัดทั่วประเทศมาร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องเมืองกรุงเทพ ให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อ ยับยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลาม เล่าว่าความยากของเราก็ คือ เราจะออกแบบชีวิตของเรายังไง บวกกับเราจะออกแบบระบบยังไงในฐานะที่เราเป็นหมอบ้านนอก เราจะไปชุมชนในกรุงเทพฯ ยังไง แต่ละเขตไม่รู้จัก นึกไม่ออก การเตรียมการหลังบ้านมีความสำคัญมากเราจึงประสานงานกับทีมชุมชนใน กทม. ซึ่งเป็นทีมที่ดูแลในชุมชนอยู่แล้ว ให้ช่วยประสานงานให้เรา เช่น การจัดการตรวจหาเชื้อวันละ 30 จุด โดยทีมเราจะมี 10 คน บ้าง 15 คนบ้าง นอกจากนี้ เขาจะช่วยเราเรื่องการเตรียมสถานที่ การลงทะเบียน การจัดคิวของผู้เข้ามาตรวจ คนที่เข้ามาตรวจ ไม่หมดก็ไม่เลิก เสร็จจากจุดนี้ ก็ไปต่อ อีกจุดหนึ่ง ถ้ายังมีคนรอตรวจ 

เราได้นำเสนอแนวทางเป็นตัวย่อว่า 6R ไว้ คือ Rapid Testing แม้เตียงเต็ม หรือจะล้นเรายิ่งต้อง rapid testing โดย ATK antigen test kit ให้มาก เพื่อแยกผู้ป่วยออกมา Rapid tracing นำผู้สัมผัสร่วมบ้านร่วมงาน มาตรวจให้มากที่สุดในวันเดียวกัน Rapid treatment ด้วย early home favipiravir หรือจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทันทีที่พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการหรือมีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ ส่วนคนติดเชื้อที่ไม่ป่วยให้ฟ้าทะลายโจร และรับเข้า HI-home isolation ในวันเดียวกัน Rapid Target vaccination ฉีดวัคซีนให้เร็วและให้ครอบคลุมในชุมชนแออัด โดยเน้นที่ผู้สูงอายุก่อน และหากมีวัคซีนมากพอก็ฉีดทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปี Rapid Target lockdown ในชุมชนที่ระบาด เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดออกนอกชุมชน 

การไปของเราก็คือ ตรวจ คัดกรอง รักษา จ่ายยา ฉีดวัคซีนเราอยากเห็นการตื่นตัวของคนกรุงเทพฯ เพราะเราเชื่อว่าความตื่นตัวจะช่วยป้องกันภัยจากโควิดได้ มาตรฐานคุณภาพ HA หรือระบบคุณภาพในโรงพยาบาลจะสอนให้เรารู้ว่า เราทำงานต้องวางยุทธศาสตร์ HA จะให้ความสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพในโรงพยาบาล แล้วก็เดินตามทิศทางที่เรากำหนด เราเองก็ต้องกลับมาทบทวนในการทำงาน ว่าเราเอาการพัฒนาคุณภาพในโรงพยาบาลมาใช้อะไรบ้าง”  

นพ.สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ จากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เล่าถึงการรับมือกับสถานการณ์เมื่อบุคลากรด่านหน้าติดเชื้อโควิด-19 ว่า พนักงานบุคลากรของเราทุกคน ถูกอบรมเรื่องการใส่ชุด PPE แบบถูกต้องเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อแต่บทเรียนที่เราพบ การถอดชุดมีการปนเปื้อน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อ ฉะนั้นจะต้องมีบัดดี้อยู่ตรงหน้าหรืออยู่ตรงข้าม เพื่อมองดูการถอดชุด PPE ว่าถูกต้องหรือไม่ และเราต้องเรียนรู้ว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนควรต้องฉีดวัคซีนเป็นภูมิคุ้มกัน ขณะที่อีกเคส บุคลากรติดจากผู้ป่วย เนื่องจากทำงานต่อเนื่อง ไม่ได้พัก ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรมาเปลี่ยน และไม่มีใครอยากมาทำตรงนี้ นอกจากการเรียนรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เราต้องแก้ปัญหาเพื่อสู้กับกระแสข่าวอีกแบบวันต่อวัน จนความเชื่อมั่นของโรงพยาบาลกลับมาเหมือนเดิม 

 

หนังสือพิมพ์แนวหน้า 

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2564