การรับรอง

คุณค่าการรับรอง

หน้าหลัก / การรับรอง / คุณค่าการรับรอง

บทเรียนการพัฒนาเพื่อก้าวสู่การรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA)

Author : chatarun Date : 09 มี.ค. 2565
View : 4,449 Tags :

    โรงพยาบาลหนองบัวระเหว มุมมองผู้นำองค์กรต่อการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ คือ จากแนวคิดสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ที่สามารถบริหารจัดการเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจาก

    ในระดับชุมชน (1) มีการจัดการสุขภาพของประชาชนในการดูแลตนเองโดยยึดหลัก 5 อ. การที่ครอบครัวร่วมกันจัดการสุขภาพของคนในครอบครัวของตนเอง สร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย ถูกหลักสุขาภิบาล

สร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว (2) ชุมชน/หมู่บ้านช่วยกันจัดการสุขภาพ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมทั้งในกลุ่มป่วย กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปกติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ในการจัดการดูแลสุขภาพของตนเองหรือคนในชุมชน ตามศักยภาพของชุมชนนั้น ทำให้เกิดเครือข่ายสุขภาพต่างๆ ในชุมชน (3) หน่วยงานภาครัฐ

เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการจัดการสุขภาพ ชุมชนจะเริ่มมีการจัดทำกติกา ข้อตกลงร่วมกันในการจัดการสุขภาพ เช่น โครงการหมู่บ้านปลอดเหล้า ปลอดอบายมุข โครงการขับขี่ปลอดภัย กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่นๆ ที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งมีทั้งร่วมกันจัดตั้งกลุ่มกันเอง และหรือได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

    ในระดับตำบล มีหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลขนาดต่างๆ ที่จะเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญในการร่วมจัดการปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน ตามสภาวะปัญหาสุขภาพของพื้นที่นั้นๆ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ เพราะมีกำลังคน งบประมาณ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ร่วมสนับสนุนการทำงานกับหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ (รพสต./ศูนย์สุขภาพชุมชน/ศูนย์แพทย์ชุมชน) เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาพดี อยู่ดี กินดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีการใช้ทรัพยากรจากโรงพยาบาลในการจัดการปัญหาสุขภาพในชุมชน ที่ในท้องถิ่นไม่มี เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล กายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์และอื่นๆ รวมทั้ง ครุภัณฑ์ เครื่องมือบางอย่างที่ต้องอาศัยผู้ประกอบวิชาชีพ

    ในระดับอำเภอ จะมีโรงพยาบาลชุมชนที่มีบุคลากรด้านสุขภาพ ครบทุกสาขาวิชาชีพ ที่จะสนับสนุนการบริการ วิชาการ ให้กับภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ มีหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เป็นตัวแทนกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่จะสนับสนุนการทำงาน มีโครงสร้างการทำงานในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าทีม ร่วมกันกำหนดทิศทาง นโยบายและเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งอำเภอหนองบัวระเหว ได้เห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนชน ในอำเภอให้มีสุขภาะวะที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี จึงร่วมกันในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในการกำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ภายใต้นโยบาย 3 ดี ได้แก่ คนดี รายได้ดี สุขภาพดี มีการจัดตั้งคณะทำงานในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอำเภอร่วมกัน มีการประชุมทบทวนทุกปี มีการสื่อสารแผนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณ จัดระบบติดตาม โดยรายงานต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับอำเภอเป็นประจำทุกเดือน สรุปผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคเพื่อปรับปรุงในปีถัดไป

    กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนา : เพื่อให้การพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอมีความยั่งยืนต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทีม พบปัจจัยสำคัญ คือ (1) การกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนและสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องนำสู่การปฏิบัติ กำหนดตัวชี้วัดที่จะใช้ติดตามความสำเร็จที่สอดคล้องกับเป้าหมาย มีการออกแบบการติดตามกำกับ รายงานการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ สื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อนำไปทบทวนปรับปรุง (2) ในการกำหนดเป้าหมาย และการจัดทำแผนพัฒนาจะต้องมีข้อมูล ข้อเท็จจริง ทั้งปัญหาสุขภาพในโรงพยาบาล ชุมชน สภาวะแวดล้อมต่างๆ รวมถึงนโยบาย ฯลฯ ที่รอบด้าน

    ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อน ทำให้เป้าหมายร่วมระดับอำเภอบรรลุคือ (1) มีคณะทำงานที่จะประสานการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ภายใต้นโยบาย 3 ดี คนดี รายได้ดี สุขภาพดี โดยการมีส่วนร่วม และมีคณะทำงานในการติดตามกำกับ รายงานที่ประชุมผู้บริหารอำเภอสม่ำเสมอ สำหรับการทำงานร่วมกันของหน่วยงานสาธารณสุขโดยตรง (รพ./รพสต./สสอ.) จะใช้เวทีคณะกรรมการประสาน งานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) ในการจัดทำแผนพัฒนายุทธศาสตร์เครือข่ายสุขภาพอำเภอร่วมกัน มีการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางร่วมกัน ทบทวนเป็นประจำทุกปี ติดตามเป็นวาระประจำในคณะกรรมการประสาน งานสาธารณสุขระดับ (คปสอ.) ทุกเดือน เพื่อบรรลุให้ประชาชนจัดการสุขภาพตนเองได้ สุขภาพดี อย่างยั่งยืน (2) มีเสริมพลังการทำงานให้กับทีมงานและภาคีเครือข่ายโดยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมเรียนรู้ ดังนี้ ร่วมคิด : เป้าหมายเดียวกัน/จัดทำแผน, ร่วมทำ : นำแผนสู่การปฏิบัติ /ติดตามกำกับ, ร่วมรับผิดชอบ : กับความสำเร็จ ไม่สำเร็จ และ ร่วมเรียนรู้ : เพื่อพัฒนา ปรับปรุง เพื่อสุขภาพดีของประชาชน ชุมชน

    โรงพยาบาลยุพราชกระนวน : มุมมองต่อการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอทีน่าสนใจ คือ การทำ DHSA เริ่มต้นง่ายๆ โดยการ ”มองนอกกรอบ” มองทั้งอำเภอเป็นพื้นที่ในการพัฒนา และวางแผนขับเคลื่อนโดยใช้เครื่องมือ 3P (Purpose-Process-Performance) ที่เราคุ้นเคย ควบคู่กับการใช้กลไกสำคัญที่มีพลังคือ กรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในการขับเคลื่อนปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองให้สามารถบรรลุความสำเร็จได้ ตัวอย่างเช่น ปัญหา RTI ซึ่งเดิมเราพยายามจะแก้ปัญหาในเชิงรุก เรามักจะมีปัญหาเวลาจะขอให้เครือข่ายต่างๆ ที่เป็น Non Health Sectors ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ ปี พ.ศ.2561 กำหนดให้นายอำเภอเป็นประธานกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ทำให้การขอความร่วมมือเครือข่ายที่เป็น Non Health Sectors ง่ายขึ้นและได้รับความร่วมมือดี จากภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น ขอให้ทุกหน่วยงานกำหนดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน ขอให้ตำรวจจัดการจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุในพื้นที่เสี่ยง ขอให้ท้องถิ่นซ่อมแซมถนนหรือติดตั้งสัญญาณไฟในพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย เป็นต้น

    คุณค่าที่องค์กรและเครือข่ายจะได้รับจากการพัฒนา ได้แก่

(1) การนำมาตรฐาน DHSA มาพัฒนาและประเมินทำให้การดำเนินงานและพัฒนางานมีความครอบคลุม

ในประเด็นสำคัญ ที่ทางพื้นที่อาจจะยังมองไม่ครอบคลุม และเป็นการกระตุ้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เยี่ยมและ

ทีมที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

(2) เกิดการเสริมพลังภาคีเครือข่ายในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน โดยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมเรียนรู้ในการปรับปรุง เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

(3) เกิดการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายต่างๆ ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง แล้วนั้นสิ่งที่มีคุณค่ามากอีกอย่างหนึ่งที่ได้มาคือ สัมพันธภาพที่ดีภายในคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับ (คปสอ.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ สามารถทำงานหนักร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้นซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้เรากลับมาทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตระดับอำเภอได้อย่างมีพลังในอนาคต

(4) ทำให้เกิดระบบการดูแลร่วมกันแบบไร้รอยต่อ เช่น ระบบการดูแลต่อเนื่อง ระบบการดูแลโรคเรื้อรัง ระบบการส่งต่อ และระบบการจัดการปัญหาโรคระบาดในพื้นที่ (เช่น COVID-19, DHF ฯลฯ) ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ต่อเนื่องและมีความปลอดภัย

(5) เกิดการแชร์ทรัพยากรร่วมกันทั้งในด้านเครื่องมืออุปกรณ์ กำลังคน องค์ความรู้

    ข้อคิดสำคัญให้เกิดความยั่งยืน

สำหรับการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยัง อบจ.นั้น ถึงแม้ว่าทีมจะถูกแยกออกไปแต่กระบวนการการดูแลรักษาเบื้องต้นและการดูแลต่อเนื่องก็ยังต้องคงอยู่ ดังนั้นการทำ DHSA จะเป็นการพัฒนาระบบการทำงานเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มีความชัดเจนทั้งการดูแลผู้ป่วยและระบบสนับสนุนต่างๆ ก่อนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะถ่ายโอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่า


เอกสารแนบ
  1. บทเรียนการพัฒนาเพื่อก้าวสู่การรับรอง DHSA.pdf
    View