การรับรอง

คุณค่าการรับรอง

หน้าหลัก / การรับรอง / คุณค่าการรับรอง

โรงพยาบาลท่าเรือ ใช้หลัก HA ขับเคลื่อน Community Isolation

Author : admin Date : 10 ธ.ค. 2564
View : 2,460 Tags :

โรงพยาบาลท่าเรือ ใช้หลัก HA ขับเคลื่อน Community Isolation

ในปัจจุบันอำเภอท่าเรือ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกในพื้นที่ ดำเนินการจัดหาสถานที่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงมีการปรับใช้สถานที่อาคารหอประชุม สถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำให้เป็นศูนย์พักคอย Community Isolation (CI) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับผู้ติดเชื้อได้ 100 เตียง
 โรงพยาบาลท่าเรือ เป็นโรงพยาบาลที่ผ่านกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน HA และมีการพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อ เนื่อง โดยยึดหลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงมีความพร้อมและมีศักยภาพในการดูแลผู้ติดเชื้อได้แบบองค์รวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการดูแลผู้ติดเชื้อที่ศูนย์พักคอย (CI) โรงพยาบาลได้มีการใช้ระบบให้ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ (Home Isolation) หรือเข้ามาพักที่ศูนย์พักคอย (Community Isolation) ผู้ติดเชื้อที่สามารถเข้ามารับการรักษาที่ศูนย์พักคอยต้องมีอาการไม่รุนแรง (สีเขียว) หรืออยู่ในระหว่างการรอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ผู้ติดเชื้อจะต้องได้รับการตรวจประเมินหรือวินิจฉัยอาการจากแพทย์ก่อน จึงจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ได้


   


        โรงพยาบาลได้ใช้กลไกและนำแนวทางตามมาตรฐาน HA มาใช้ในการขับเคลื่อนและการบริหารจัดการระบบต่างๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมและมีความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ ผู้ติดเชื้อและชุมชน โดยมีการแบ่งเขตพื้นที่แยกจุดคัดกรอง แยกทางเข้า ทางออกกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้ติดเชื้อกับเจ้าหน้าที่ มีการลงทะเบียนแรกรับและมีการจัดทำคู่มือให้ความรู้กับผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีการแบ่งโซนผู้ติดเชื้อชาย-หญิง มีแผนผังเตียงแสดงรายชื่อผู้ติดเชื้อระบุชื่อตามผังเตียงนอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวังติดตามดูอาการผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักได้ง่ายขึ้น มีการใช้กล้องวงจรปิดเพื่อเปิดดูอาการผู้ติดเชื้อทำให้สามารถดูแลผู้ติดเชื้อได้อย่างใกล้ชิด มีเสียงตามสายใช้ในการสื่อสารซักถามอาการผู้ติดเชื้อได้ตลอดเวลา มีการให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือที่จำเป็นในการรักษา เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดค่าออกซิเจน โดยมีการเรียกชื่อผู้ติดเชื้อผ่านเสียงตามสายให้มาวัดความดัน ค่าออกซิเจนตามเวลาที่กำหนด และให้ผู้ติดเชื้อถ่ายรูปหน้าจอที่เครื่องวัดพร้อมทั้งเขียนชื่อ นามสกุล แล้วส่งไลน์มาให้เจ้าหน้าที่ดูเพื่อประเมินอาการ มีผู้ติดเชื้อที่มีความรู้เป็นจิตสา คอยดูแลให้การช่วยเหลือผู้ติดเชื้อด้วยกัน เช่น ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ติดเชื้อที่มีโรคประจำตัว ดูแลในเรื่องการใช้เครื่องมือ อาหาร ยา และพาเข้าห้องน้ำ ผู้ป่วยท่านใดมีอาการผิดปกติจะรีบแจ้งเจ้าหน้าที่รับทราบทันที โดยการกดเสียงตามสายมาที่ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่


         มีการวางระบบป้องกันแยกขยะติดเชื้อและสิ่งปนเปื้อน เนื่องจากผู้ติดเชื้อพักอยู่ชั้น 2 จึงทำเป็นรางเพื่อทิ้งขยะจากชั้น 2 ลงมายังถังสีแดงมีฝาปิดมิดชิด เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีการดูแลเรื่องระบบระบายอากาศให้สามารถถ่ายเทได้สะดวก มีการวางระบบบำบัดน้ำเสีย โดยการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อ มีการดูเรื่องความปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตลอด 24 ชั่วโมง มีตำรวจสายตรวจเข้ามาดูแลพื้นที่ศูนย์พักคอยเป็นระยะและมีสายด่วนหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีจุดบริการรับฝากของเครื่องอุปโภค บริโภค ของใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อ มีการแยกอาหารเพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ผู้ป่วยปกติทั่วไป ผู้ป่วยสูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว


          ทาง สรพ.ได้มาเยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลท่าเรือ ที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์พักคอย นำทีมโดย นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี (ผู้อำนวยการสถาบัน) อ.โกเมธ นาควรรณกิจ (นักวิชาการ (ผู้เยี่ยมสำรวจ) ระดับทรงคุณวุฒิ สถาบัน) ได้มีการแนะนำเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย เช่น ตรงจุดคัดกรองและจุดที่พักผู้ติดเชื้อให้มีการปรับในเรื่องระบบระบายอากาศให้มีความโปร่ง ทิศทางของอากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น และตรงจุดแรกรับผู้ติดเชื้อให้เพิ่มฉากกั้น เพื่อป้องกันไม่เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อ มีการซ้อมแผนหรือเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ผู้ติดเชื้อเกิดอาการคุ้มคลั่งจากการขาดสารเสพติดหรือมีอาการทางจิต ระบบการจราจร เส้นทางการขนส่งอาหารและสิ่งของที่มีผู้มาบริจาคที่ศูนย์พักคอยเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น