มาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิ
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มีบทบาทหน้าที่สำคัญตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กร ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินระบบงานและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีกลไกการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการในระบบบริการปฐมภูมิและให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านสาธารณสุขรวมทั้งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดจุดมุ่งเน้นในการสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง สถาบันจึงได้มีการพัฒนามาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิโดยเป็นไปตามแนวทางการพัฒนามาตรฐานสากล The International Society for Quality in Health Care External Evaluation Association (ISQua IEEA) และตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (Public Health Center Standards, 2nd Edition)
สถาบันได้ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการพัฒนามาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมการพัฒนาและประเมินรับรองหน่วยบริการสุขภาพประเภทที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิในเขตเมืองของศูนย์บริการสาธารณสุข และการพัฒนาให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชากรและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาคุณภาพ นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ สถาบันได้มีการพัฒนามาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 ตามแนวทางการพัฒนามาตรฐานสากล ISQua IEEA โดยมุ่งเน้นให้เกิดการบริหารจัดการสถานพยาบาลที่ส่งมอบคุณค่าแก่ผู้รับผลงาน ความปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง และระบบบริการที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นองค์รวม
กรอบแนวคิดมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข
มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข มีทั้งหมด 7 หมวด โดยใช้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างของมาตรฐานในบทที่ I-6 การปฏิบัติการ แบ่งเป็นกระบวนการหลักและกระบวนการสนับสนุน ซึ่งกระบวนการหลักมาตรฐานจะครอบคลุม บทที่ II-8 การเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ บทที่ II-9 การทำงานกับชุมชน ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญในสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ และตอนที่ III กระบวนการดูแลผู้ป่วย ส่วนกระบวนการสนับสนุน ครอบคลุมมาตรฐานตอนที่ II ในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสาธารณสุข ฉบับที่ 4 ที่สำคัญจำเป็นสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีการปรับรายละเอียดของมาตรฐานให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตเมือง ซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และมีการดำเนินงานในชุมชนที่หลากหลาย รวมทั้งการดูแลประชาชนผู้รับบริการในหน่วยบริการและในชุมชนที่เชื่อมโยงกันจนถึงระดับโรงพยาบาล
มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ฉบับที่ 1 (Primary Care Standards, 1st Edition)
ตามที่พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีมาตรฐานจากหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนามาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการในระบบบริการปฐมภูมิทั่วประเทศไทย สถาบันได้มีการพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อเป็นกรอบมาตรฐานและคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิที่พึงประสงค์ เป็นแนวทางในการออกแบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เหมาะสม และชี้นำการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนากลไก กระบวนการจัดการ จนสถานพยาบาลปฐมภูมิสามารถแสดงผลการดำเนินงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับ มีคุณภาพ ปลอดภัย ตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับปัจจัยสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ และส่งเสริมการจัดการสุขภาพตนเองที่จำเป็น
เป้าหมายของการพัฒนามาตรฐาน
เพื่อเป็นกรอบมาตรฐานและคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิที่พึงประสงค์ เป็นแนวทางในการออกแบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เหมาะสม และชี้นำการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนากลไก กระบวนการจัดการ จนสถานพยาบาลปฐมภูมิสามารถแสดงผลการดำเนินงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับ มีคุณภาพ ปลอดภัย ตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับปัจจัยสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ และส่งเสริมการจัดการสุขภาพตนเองที่จำเป็น
แนวคิดและลักษณะสำคัญของมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ
คณะกรรมการสถาบัน ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ในด้านระบบบริการสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพ ร่วมกับคณะทำงานพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่ ร่วมดำเนินการกำหนดหลักการ ทิศทาง และพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ส่งผลให้มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิมีคุณลักษณะเด่น ดังนี้
1. มีการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา มีการทดลองใช้มาตรฐานในสถานพยาบาลปฐมภูมิและนำผลมาปรับให้เหมาะสมกับบริบท และมีความเป็นพลวัตร
2. มีความเป็นสากล โดยการนำหลักการและแนวทางการพัฒนามาตรฐานการประเมินสถานพยาบาลซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของ The International Society for Quality in Health Care External Evaluation Association (ISQuaEEA) และเรียนรู้จากการทบทวนวรรณกรรมมาตรฐานต่างประเทศและประเทศไทย มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนามาตรฐาน
3. มีหลักการและแนวคิดการพัฒนามาตรฐานเพื่อการเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับใช้กับบริบทสถานพยาบาลปฐมภูมิที่มีความหลากหลาย มากกว่าการควบคุมกำกับ
4. มุ่งเน้นการสร้างและส่งเสริมให้เกิดกลไกประเมินคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิบนพื้นฐานการออกแบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ (primary care service delivery) ที่เป็นการทำงานในลักษณะเครือข่าย และกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันในระดับพื้นที่ โดยใช้แนวคิดการพัฒนาคุณภาพ
5. การบูรณาการเอกลักษณ์บริการปฐมภูมิของประเทศไทย อาทิ การทำงานด้วยจิตวิญญาณ การสร้างเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การขับเคลื่อนการทำงานแบบมีส่วนร่วม
6. สนับสนุนการขับเคลื่อนตามประเด็นคุณภาพสำคัญ ของ พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
กรอบแนวคิดมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ
มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิแบ่งเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ภาพรวมของการบริหารสถานพยาบาลปฐมภูมิ (Primary care management) ตอนที่ 2 การบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ (Quality of primary care services) ตอนที่ 3 กระบวนการสนับสนุนการจัดบริการปฐมภูมิ (Key service support processes) และตอนที่ 4 ผลลัพธ์ (Results)