2P Safety Hospital

ผลการดำเนินกิจกรรม

หน้าหลัก / ความร่วมมือเครือข่ายด้านความปลอดภัย / ผลการดำเนินกิจกรรม

The 5th World Patient Safety Day

Author : Netnapa Date : 17 ก.ย. 2566
View : 532 Tags : 3P Safety HA WPS2023


วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 (The 5th World Patient Safety Day)

และ วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7

(The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day)

ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety


เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5” (The 5th World Patient Safety Day) และ “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7” (The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ภายใต้แนวคิด Engaging patients for patient safety โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อร่วมประกาศและแสดงเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเรื่อง Patient Safety ร่วมกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ในวัน World Patient Safety Day ครั้งที่5 สร้างการมีส่วนร่วมและชื่นชมสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน เรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาเรื่อง Patient Personnel and People Safety เพื่อรวบรวมองค์ความรู้จากการปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขให้ปลอดภัย โดยได้รับเกียรติจาก นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถา การขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยฯ และประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรและประชาชน ระยะที่ 2 : 3P Safety Strategy ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ห้องอัศวิน แกรนด์ บอลรูม โดยมี พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมในสถานที่จัดงาน จำนวน 413 คน เข้าร่วมผ่านทางแอปพลิเคชัน ZOOM จำนวน 398 บัญชีผู้ใช้ และผ่านทางแอปพลิเคชัน Face Book Live จำนวน 326 บัญชีผู้ใช้ ซึ่งทั้งหมดมาจากโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศกว่า 950 โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลสมาชิกใหม่เข้ารับเกียรติบัตร จำนวน 68 แห่ง จาก 107 แห่ง


นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรและประชาชน ระยะที่ 2 : 3P Safety Strategy เพิ่มความปลอดภัยไปถึงประชาชนเป็น Patient, Personnel and People Safety โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน” พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมสถานพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการในปี พ.ศ. 2566 ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทในการทำงานอย่างเสียสละของบุคลากรสาธารณสุข ทั้งในสถานการณ์ที่เกิดโรคอุบัติใหม่ หรือสถานการณ์ปกติ เพื่อดูแลผู้ป่วยและประชาชนให้มีความปลอดภัยและได้รับการดูแลรักษาที่ดีมีคุณภาพ ทั้งยังคำนึงถึงความปลอดภัยทางด้านร่างกายและจิตใจของบุคลากร ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยการจัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรประเทศไทย ครั้งที่ 7 ในปีนี้ ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยและบุคลากรเท่านั้น ตามทิศทางขององค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการออกแบบการบริการได้ในทุกมิติในเรื่องความปลอดภัยของตนเอง รวมไปถึงครอบครัวและญาติในการดูแลให้มีความปลอดภัย โดยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในเสียงของการขับเคลื่อน พลิกแนวคิดจากการออกแบบการดูแลเพื่อผู้ป่วย เปลี่ยนเป็นการออกแบบการดูแลร่วมกับผู้ป่วย หรือ Engaging patients for patient safety สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ครอบครัว และประชาชน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ Global Patient Safety Action Plan 2021-2030 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Patient and Personnel Safety หรือ 2P Safety โดยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องร่วมกันมาจนครบ 4 ปี และเตรียมพร้อมประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระยะที่ 2 ที่ก้าวนำประเทศต่างๆ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในประเทศไทยได้ก้าวล้ำหน้าต่อไปสู่ 3P Safety เป็นประเทศแรกในโลกอีกครั้ง

                            


โดยภายในงานได้จัดกรรมต่างๆ ได้แก่


พิธีมอบประกาศนียบัตรการรับรองการพัฒนาคุณภาพระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ มอบโดย พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เมื่อปี 2559 สรพ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับเครือข่ายบริการสุขภาพและมีความจำเป็นต่อผู้รับบริการ จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการรับรองเครือข่ายระดับจังหวัด จึงได้มีการพัฒนาต่อยอดการรับรองสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรอง เพื่อเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการระดับจังหวัด จึงได้มีการประเมินเพื่อยกย่องเครือข่าย จำนวน 16 เครือข่าย และได้รับเสียงสะท้องว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสอดคล้องกับ Service Plan ของกระทรวงสาธารณะสุข ต่อมาปี 2562 สรพ. จึงได้พัฒนาและประกาศใช้มาตรฐานระบบเครือข่ายการรับรองสุขภาพ หรือเรียกว่า Health Care Network System และได้การยกย่อง จำนวน 4 แห่ง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โรงพยาบาลชลบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โรงพยาบาลระยอง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และโรงพยาบาลหนองบัวลำภู


พิธีมอบประกาศนียบัตร ให้กับโรงพยาบาล ที่เข้าร่วมโครงการ 3P Safety Hospital ปี 2566 โดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 107 แห่ง และเข้ารับจริง จำนวน 68 แห่ง โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก 3P Safety Hospital จะรับสมัครจากโรงพยาบาลที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ 1) สถานพยาบาลยินดีเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ 2) สถานพยาบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบบริการ เพื่อเป้าหมายให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัย ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน (Patient Personal and People Safety: 3P Safety) และมีการประกาศนโยบาย 3P Safety ของสถานพยาบาล 3) สถานพยาบาลยินดีและพร้อมสำหรับการทำเครื่องมือเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยทั้งหมดในโครงการ ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาระบบบริการตามเงื่อนไขของการใช้งานเครื่องมือแต่ละชนิด 4)สถานพยาบาลยินดีที่จะเข้าร่วมเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยในปีนี้จะเริ่มรับสมัครสมาชิกใหม่ภายในวันที่ 5-25 ตุลาคม 2566 นี้




บรรยายพิเศษ จาก นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ในหัวข้อ Compassionate Engagement โดยในการบรรยาย นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้บุคลากร ทางการแพทย์สามารถเข้าไปรับรู้ความรู้สึกของผู้ป่วยได้ คือ การใช้ประสบการณ์ในการสื่อสารกับผู้ป่วยเพื่อรับทราบความต้องการของผู้ป่วย โดยเราสามารถรับฟังเสียงจากผู้ป่วย ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ป่วยเขียนความรู้สึก สิ่งที่ต้องการ และส่งต่อข้อมูลให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการบอกสถานการณ์ตอบสนอง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะพูดหรือเล่าเรื่องที่เป็นกลางน้ำ หรือปลายน้ำเสมอ หน้าที่ของเราคือฟัง และซักถาม เพื่อช่วยนำพาให้เขาสามารถให้ข้อมูลตรงประเด็น เราสามารถ engage ได้โดยใช้แบบบันทึกอาการของผู้ป่วยหรือสมุดบันทึกประวัติสุขภาพเพื่อช่วยให้แพทย์ในการวินิจฉัยโรค หรือสอนให้คนไข้ถามคำถาม 3 ข้อ คือ ฉันเป็น (โรค) ฉันต้องทำอะไร ทำไมต้องทำ คนไข้จะได้รับข้อมูลและนำไปปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และต้องชวนคนไข้นึกถึงเรื่องประโยชน์ และตั้งคำถามโดยใช้ 4 คำถามก่อนตัดสินใจ ได้แก่ มีทางเลือกอะไรบ้าง ถ้าเลือกไม่ทำอะไรเลย ข้อดี – ข้อเสีย ประโยชน์ – ความเสี่ยง ของแต่ละทางเลือก “เรามาช่วยกัน activate ด้วยการ action for safety”




บรรยายพิเศษ จาก โดย อาจารย์ดวงสมร บุญผดุง ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ได้ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ Spiritual in Healthcare โดยอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า “เราจะทำคนในองค์กรให้ทำเรื่องนี้ได้อย่างไร” กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการมากที่สุด คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังคาดหวังการได้รับบริการที่ครบสมบูรณ์ มีงานวิจัยพบว่าปัจจัยส่งผลต่อคุณภาพของพยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ ให้มี ประสิทธิภาพจนส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยคือ ความรู้ที่ดี ทัศนคติ ความฉลาดทางจิตวิญญาณ ดังนั้นเราจะต้องสร้างปัจจัยเหล่านี้ให้แก่บุคลากร โดยบุคลากรสามารถระบุตัวตนต่อองค์กร organizational identification การที่พนักงานภายในองค์การรับรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รู้สึกผูกพันต่อองค์กรจนกระทั่งเกิดรับรู้ว่า การประสบความสําเร็จหรือล้มเหลวขององค์กรนั้นเป็นเหมือนความสําเร็จหรือล้มเหลวของตนเองด้วย ความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดทางจิตวิญญาณ “ทุกคนเกิดมาพร้อม ความฉลาดที่มีความแตกต่าง”การบูรณาการจิตวิญญาณในการทำงานลงสู่การปฏิบัติในระบบสุขภาพ (Spiritual Healthcare in Action ) โดยเปลี่ยนจากวัตถุเป็นการสร้างคุณชีวิต และความสุขมาสู่คน เน้นคนในองค์กรเป็นหลักในการสร้างจิตวิญญาณ โดยใช้ growth mindset และ meta skill เป็นกลไกในการสุดท้ายจะเกิดความเข้าใจรูปธรรมของ SHA สำหรับ Patient engagement คือ Dignity & Respect คือ การเคารพศักดิ์ศรีของผู้คน จึงต้องให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดูแลรักษา เพื่อเข้าถึงความปรารถนาที่แท้จริง



Speck Up ในหัวข้อ Engaging patients for patient safety in Thailand จากผู้แทนเครือข่ายองค์กรทางด้านบริการสุขภาพ

ตัวแทนผู้ป่วยและผู้แทนประชาชน ซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม มีส่วนสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อปรับปรุงความปลอดภัย และลดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น โดยกระบวนการที่สำคัญ คือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันประกาศนโยบาย เพื่อแสดงพลังการขับเคลื่อน 3P Safety ร่วมกัน



อ.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้กล่าวว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์ กับทุกฝ่าย ทั้งหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ผู้ป่วยและญาติ โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ การคุ้มครองผู้บริโภค มิใช่การทำให้ธุรกิจเสียหาย แต่ส่งผลให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยมีความสำคัญ การฟังเสียงของผู้ป่วยจะช่วยลดความผิดพลาดทางการแพทย์ การตั้งคำถามของผู้ป่วยเป็นเรื่องปกติที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งจะสามารถลดฟ้องร้องทางการแพทย์ได้ ดังนั้น Engagement พื้นฐานคือ การตั้งคำถาม การใช้สิทธิ์พื้นฐานของผู้บริโภค สิทธิ์ในการเลือก สิทธิ์รับความปลอดภัย หวังว่าทุกคนจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในฐานะผู้บริโภคของทุกคน และเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

Take Home Massage: สิทธิผู้บริโภคเรื่องความปลอดภัยถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2522 ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะได้รับความปลอดภัย ดังนั้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ผู้บริโภคในการทำให้ความปลอดภัยเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นโรงพยาบาลที่อยู่ในกระบวนการรับรองต่างให้ความสำคัญ เรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค หวังว่าจะเกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค.



นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ สำนักงานสนับสนุนสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าทุกคนต้องเป็นเจ้าของความปลอดภัยของตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้ วิเคราะห์ และแก้ไขให้ตรงจุด ต้องเริ่มให้ถูกทาง ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เหมือนการปลูกเมล็ดพันธุ์ การสร้างระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็ง ก็เหมือนปลูกพืชที่มีรากแก้ว จะเติบใหญ่ และออกดอกออกผลได้อย่างงดงามและยั่งยืนตลอดช่วงชีวิต แต่ถ้าเราออกแบบการเรียนรู้โดยใช้การอบรมและบอกว่าผลลัพธ์เป็นของโรงพยาบาล แต่ผลที่ได้คือเกิดกับประชาชนดูแลตนเองได้ ดังนั้นให้ทุกโรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูล จัดลำดับความสำคัญ คืนข้อมูล เพื่อให้ชุมชนร่วมกันสอบสวนสาเหตุของความเสี่ยง ร่วมกันหาวิธีการป้องกัน เดินเรื่องด้วย Story และ Empower ให้ชุมชนลุกขึ้นมาสร้างความปลอดภัยในชุมชน เป็นตัวอย่างของการพัฒนา People Safety by Community

Take Home Massage: ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน ดังนั้นการพัฒนาเรื่องนี้ต้องสานพลัง Synergy ร่วมกัน โดยต้องรู้ว่าเราเก่งอะไร เราไม่เก่งอะไร รู้ว่าเพื่อนเราเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร การสานพลังคือ การเอาจุดแข็งเราไปปิดจุดอ่อนเขา และเอาจุดแข็งเขามาปิดจุดอ่อนของเรา ซึ่งต้องให้เกียรติและเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญ เช่นกันกับเห็นพลังของทุกภาคส่วนของชุมชน จะสานพลังร่วมกับชุมชนได้อย่างไร ฝากโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ร่วมด้วยช่วยกัน


ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้กล่าวว่า สช.มีบทบาทหน้าที่ชัดเจนเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะด้วยปัญญา เพื่อเป้าหมายคือความปลอดภัย การแก้ปัญหาสุขภาพต้องมองให้รอบ ครอบคลุม ครอบครัว ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม การพัฒนาคุณภาพในมาตรฐาน HA ที่เน้น Quality และ Safety คุณภาพไม่ใช่เพียง Standard of care แต่เกี่ยวเนื่องถึงประสบการณ์ผู้ป่วย ความพึงพอใจของผู้ป่วย ดังนั้นการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนไม่เพียงผู้ป่วยและแพทย์เท่านั้น การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ชุมชน และสังคมในการพัฒนาเรื่องความปลอดภัย ระดับการมีส่วนร่วมควรให้ความสำคัญและพัฒนาให้ถึงระดับการร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมเป็นหุ้นส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

Take Home Massage: เน้นย้ำ engage ที่มีความหมายว่า ไปไหนไปกัน ในชีวิต People มีโอกาสเป็น Patient ซึ่งจะมีทีมเครือข่ายต่างๆ เข้ามาช่วยกันในการสร้าง Well Being ทำให้เป็นประเด็นร่วมของสังคม และทุกคนก็จะรวมพลังเข้าสู่ Vision Patient Safety ได้



ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สปสช. เป็นหนึ่งในจิ๊กซอร์ของระบบบริการสุขภาพ โดยมีภารกิจสำคัญคือการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชนโดยใช้เงินกองทุนจากภาษีทางตรงและทางอ้อมของประชาชนทุกคน โดยเจตนารมย์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นภายใต้คุณภาพสำหรับประชาชน โดยมีจุดเน้นการให้บริการคือ คุณภาพ มาตรฐานและประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนภาพของ Patient Safety โดยมีการจัดการที่เป็นรูปธรรมใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ดูแลการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีผลต่อชีวิต (UCEP) 2) บริหารจัดการ Payment Mechanism ซึ่งมีพัฒนาการหลากหลายรูปแบบ ปัจจุบันกำลังก้าวสู่การจ่ายแบบ Base Payment คือการจ่ายตามผลลัพธ์สุขภาพ ซึ่งมีการนำร่องในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และ Case base Payment โดยเริ่มต้นในกลุ่มทันตกรรม ซึ่งมีความเชื่อว่าผลลัพธ์บริการด้านความปลอดภัยจะเกิดกับประชาชน 3) พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูล ผู้ป่วย OPD IPD การสร้างเสริมสุขภาพ มาตรา 41 โดยมีแผนเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้กับ สรพ. เพื่อนำสู่การวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นำสู่การหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทั้งหมดคือการดำเนินการที่ สปสช.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยเกิดขึ้นกับประชาชนในการเข้ารับบริการด้านการสาธารณสุขภายใต้ข้อมูล

Take Home Massage: หัวใจสำคัญคือการมีส่วนร่วม ดังนั้นทุกคนต้องร่วมกันคิด ช่วยกันทำ เรื่องราวที่มีความสำคัญเช่น Patient Safety เกิดขึ้นได้แน่นอน!


ดร.ศศดิศ ชูชนม์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้แทนสื่อสารสาธารณะ การสื่อสารมีหลายระดับ เริ่มแรกคือการสื่อสารภายในตัวเอง เข้าใจตนเอง จากการศึกษาพบว่าความสำเร็จภายในตนเองอยู่ที่ 85% การสื่อสาระหว่างบุคคล ความสำเร็จอยู่ที่ 50% สื่อสารระหว่างกลุ่มอยู่ที่ 25% สื่อสารมวลชน อยู่ที่ 5% โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมถูก Disrupt ทางสื่อค่อนข้างมาก มีการสื่อสารที่หลากหลาย เข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า Too much to West ข้อมูลข่าวสารล้นทะลัก ในบางข้อมูลไม่สามารถวิเคราะห์หรือตัดสินใจ การสื่อสารในโรงพยาบาลโดยเฉพาะห้องฉุกเฉินที่จะมีภาพจำ เมื่อนำผู้ป่วยเข้า ER และรูดม่านปิดและแจ้งญาติให้รอข้างนอก ถ้ายอมเสียเวลาอีกนิดประมาณ 37 วินาทีสื่อสารกับญาติผู้ป่วยเพิ่มเติมด้วยคำพูดที่ว่า “ญาติรอข้างนอกนะคะ แพทย์จะดูแลญาติของท่าน” และหลังจากนั้นมีการแจ้งความคืบหน้าการรักษาและอาการผู้ป่วยให้ญาติทราบเป็นระยะ ซึ่งจะสามารถลดความเข้าใจผิด เนื่องจากญาติที่รอ มีความคาดหวังกับความสำเร็จ ญาติต้องรอด แพทย์ต้องเก่ง ต้องไม่เกิดความผิดพลาดใดๆ การสื่อสารจะมาต่อเติม และเติมเต็มความคาดหวังของญาติ ซึ่งอาจมีโอกาสรักษาไม่สำเร็จ แต่การสื่อสารจะทำให้ญาติรู้สึก “เบาใจ” ซึ่งในสถานการณ์จริงอาจยังไม่เข้าใจ แต่จะสามารถลดความขัดแย้งลงได้ กระบวนการสื่อสารในกระบวนการ People safety มี 2 ลักษณะคือ 1) สื่อสารสาธารณะ (Public Communication) ซึ่งเป็นกระบวนการทางสังคม มีเป้าหมายคือ Move & Change เกิดการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลง 2) Empathy Communication ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่ น้ำเสียง ท่าทาง ระดับข้อความการสื่อสาร ที่ใช้ในกระบวนการสื่อสาร โดยสิ่งสำคัญที่จะสร้าง Engage ให้เกิดขึ้นคือการปรับ Mindset ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ “สิ่งสำคัญที่สุดคือหัวใจความเป็นมนุษย์” (ประเวศ วะสี)

Take Home Massage: สิ่งที่เราจะทำให้เกิด Patient Safety ให้คิดว่าวันหนึ่งเราก็ต้องไปเป็น Patient และ Safety ไม่เพียงปลอดภัยทางร่างกาย แต่เป็นความปลอดภัยทางจิตใจและความรู้สึกร่วมด้วย ดังนั้นขอเชิญชวนร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ เพื่อความปลอดภัย ทั้ง Patient และ People Safety


อ.เอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ ผู้แทนผู้ป่วยและประชาชน ในชีวิตผู้มีโชคชะตา ของการเป็นผู้ป่วยโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia) ได้เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนมุมมองและวิธีการใช้ชีวิต ด้วยความคิดที่ว่า ไม่มีใครเข้าใจการดำเนินของโรคและความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากโรคเท่าผู้ป่วย เป็นที่มาของแนวคิดการรวมกลุ่มกันของผู้ป่วย เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรคที่เป็น ผู้ป่วยและครอบครัวคือคนที่รู้จริงที่สุดในโรคที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ การมีส่วนร่วมและติดตามอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญ โครงการ Patient for Patient Champion ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มาคุยกัน เกิดองค์ความรู้ร่วมกัน แชร์ปัญหาร่วมกัน เนื่องจากการเกิดการรวมกันของกลุ่มผู้ป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย กลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญในการรวมกลุ่มคือบุคลากรทางการแพทย์ การมีเครือข่ายผู้ป่วยต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และขอฝากให้ทุกท่าน ทุกฝ่าย ช่วยกันทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรวมถึงกลุ่มโรคที่เป็น Rear disease ประโยชน์ด้านความปลอดภัยจะเกิดแก่ผู้ป่วย ญาติ บุคลากรและประชาชน รวมเป็น 3P Safety

Take Home Massage: ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้จากความไว้ใจกัน ระหว่างบุคลากรผู้ให้การรักษาและผู้ป่วย บุคลากรต้องมั่นใจว่าการให้ข้อมูลของผู้ป่วยจะเป็นประโยชน์กับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้การรักษาด้วย ผลักดันให้เกิดกลุ่มผู้ป่วยซึ่งจะได้มาซึ่ง massage จากผู้ป่วยว่าต้องการอะไรที่จะทำให้เกิด safety ของแต่ละกลุ่มโรค ซึ่งคิดว่าอนาคตจะมี Personalize มากขึ้น ฝากทุกท่านให้การสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้ป่วยให้มากที่สุด!


พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล “การขับเคลื่อนความปลอดภัยในผู้ป่วยดำเนินการตั้งแต่ปี 2002 และในปี 2013 WHO ได้มีการส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความปลอดภัยในแนวคิด Patient for Patient Safety สำหรับประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยมาพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2014 สรพ.เริ่มต้นโครงการ Patient For Patient Safety ภายใต้แนวคิด Share Chain Shape Change โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือ ประชาชนช่วยสร้างให้เกิด Awareness ในระบบบริการสุขภาพได้ มีการให้ประชาชนมีองค์ความรู้ สื่อสารประชาสัมพันธ์และต้องสร้างความร่วมมือ ทั้งหมดนี้ต้องได้รับความร่วมมือกัน โดยมี Step ของการ Engaged ต้องเริ่มต้นด้วย “การฟัง” ต่อด้วยการสื่อสาร/ปรึกษา มีการเปิดโอกาสให้มีการตัดสินใจร่วมกัน เปิดทางให้ผู้ป่วยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง Co-Production และ Co-Leadership เพราะคนที่เป็นเจ้าของสุขภาพที่แท้จริงนั้นคือ ผู้ป่วย” สรพ.ได้มีการ Engage เรื่องราวเหล่านี้เข้าไปในมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ชวนโรงพยาบาลทำเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นธรรมชาติ เป้าหมายสำคัญคือ Good Experience = Patient Engagement เป็นสิ่งที่แสดงถึงความไว้วางใจ ก้าวร่วมไปพร้อมๆ กัน

Take Home Massage: “การฟังเป็น First step สำคัญในการก้าวสู่ Patient Engagement เพื่อสร้าง Good Experience ก้าวร่วมเป็น Co-Leadership และร่วมกันพัฒนา 3P Safety ไปด้วยกัน ผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน”


การนำเสนอผลงานนวัตกรรม 2P Safety Tech ในปี 2566 เป็นความร่วมมือกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยจับคู่นวัตกร Start Up ของ สวทข. ร่วมกับโรงพยาบาลที่สมัครร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่สามารถบัองกันอุบัติการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการหรือ pain point ของโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาลและสามารถใช้ได้จริง จึงเกิดโครงการปี 2562-2564 เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้โรงพยาบาล3P Safety Hospital พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personal Safety Goal (SIMPLE) ภายใต้แนวคิด Human Factor Engineering ซึ่งปี 2565 มีผลงานนวัตกรรมจำนวน 41 ผลงาน โดยในปีนี้มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบ 10 ทีม ได้แก่





    


กิจกรรมนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ ดังนี้

1. สรุปผลการดำเนินงาน 3P Safety Hospital ประจำปี 2567

2. CQI เครื่องมือพัฒนาคุณภาพด้านความปลอดภัย ได้แก่ ระบบ NRLS, HSCS, PEP, CoP Learning การทำ RCA หมวด Medication Safety

3. นวัตกรรม 3P Safety Tech

4. ประวัติเส้นทางสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)

5. นิทรรศการนวัตกรรม จาก สวทช. 10 บูธ และบูธของที่ระลึก สรพ.


 

    



“ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข


“3P Safety เกิดได้ทุกที่ ทำได้ทุกคน เรามาช่วยกันนะคะ”

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล


เอกสารแนบ
  1. WPS 2023.pdf
    View